

หลายคนอาจมองว่าไขมันหน้าท้องที่เพิ่มมากขึ้นหรือรอบเอวที่ขยายใหญ่ อาจไม่ใช่ปัญหาที่สร้างผลกระทบรุนแรงมากนัก แต่ความจริงแล้ว ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) กลับเป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เนื่องจากไขมันช่องท้องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบเผาผลาญและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันพอกตับ ฯลฯ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุ ผลกระทบต่อสุขภาพ และวิธีป้องกันหรือลดไขมันในช่องท้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจ
ไขมันในช่องท้อง คืออะไร
ไขมันในช่องท้อง หรือ Visceral Fat เป็นไขมันส่วนเกินที่สะสมอยู่โดยรอบอวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ และยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่หลอดเลือด ซึ่งแตกต่างจากไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) ที่อยู่บริเวณหน้าท้อง ต้นแขนและต้นขา ไขมันในช่องท้องสามารถส่งผลกระทบต่อระบบเผาผลาญและฮอร์โมนของร่างกาย อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังมากมาย การมีไขมันชนิดนี้ในปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
สาเหตุที่ทำให้เกิดไขมันในช่องท้อง
- พฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมาก หรือได้รับแคลอรีมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันได้ง่ายโดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง
- ขาดการออกกำลังกาย การใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) หรือการออกกำลังกายน้อยเกินไป ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อย และเริ่มสะสมพลังงานส่วนเกินในรูปแบบของไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ความเครียด ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งหลั่งออกมาเมื่อร่างกายเผชิญภาวะเครียด มีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมันในช่องท้องมากขึ้น
- การนอนหลับไม่เพียงพอ การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย นอนไม่เป็นเวลา ส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมไขมันได้ง่ายขึ้น
- พันธุกรรม ปัจจัยทางพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการสะสมไขมันในร่างกาย ส่งผลให้คนบางกลุ่มอาจมีแนวโน้มที่จะสะสมไขมันบริเวณช่องท้องได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป แม้จะควบคุมอาหารและออกกำลังกาย


วิธีตรวจวัดไขมันในช่องท้องด้วยตัวเอง
สามารถประเมินปริมาณไขมันในช่องท้องด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ดังนี้
- การวัดเส้นรอบเอว (Waist Circumference) ด้วยการใช้สายวัดวัดรอบเอวบริเวณที่แคบที่สุดของลำตัว สำหรับผู้หญิงรอบเอวไม่ควรเกิน 32 นิ้ว และผู้ชายรอบเอวไม่ควรเกิน 36 นิ้ว
- คำนวณอัตราส่วนระหว่างรอบเอวกับรอบสะโพก (Waist-to-Hip Ratio :WHR) โดยนำขนาดรอบเอว (นิ้ว) หารด้วยขนาดรอบสะโพก (นิ้ว) ค่า WHR ที่สูงเกินไป (ผู้หญิงสูงกว่า 0.80 และผู้ชายสูงกว่า 1) อาจบ่งบอกถึงการสะสมของไขมันในช่องท้องที่มากกว่าปกติ และอาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ
อันตรายจากการมีไขมันช่องท้องในปริมาณมาก
ไขมันในช่องท้อง หรือ Visceral Fat เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ดังนี้
- โรคไขมันในเลือดสูง ไขมันในช่องท้องที่แทรกซึมเข้าสู่หลอดเลือด ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มสูงขึ้น และคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดต่ำลง
- โรคไขมันพอกตับ ไขมันที่สะสมในตับมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบและเสี่ยงต่อโรคตับแข็ง
- โรคหลอดเลือด เมื่อมีปริมาณไขมันสะสมในเส้นเลือดสูงกว่าที่กำหนดจึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ฯลฯ
- เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท 2 ไขมันในช่องท้องส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น
- กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย ไขมันในช่องท้องปล่อยสารอักเสบที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ในอนาคต


วิธีลดไขมันในช่องท้อง
แม้ว่าไขมันในช่องท้องจะเป็นไขมันดื้อด้านและจัดการได้ยาก แต่สามารถลดไขมันในช่องท้องได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้เหมาะสม ดังนี้
- ควบคุมปริมาณอาหารที่ทานอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป และอาหารที่มีไขมันทรานส์ เน้นอาหารที่มีไขมันต่ำ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ รวมถึงเพิ่ม ผัก ผลไม้ในทุกมื้ออาหาร
- ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือว่ายน้ำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดี และอาจเสริมด้วยการฝึกเวทเทรนนิ่งเพื่อช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและกระตุ้นการเผาผลาญ
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย พยายามเครียดให้น้อยลง โดยอาจลองฝึกนั่งสมาธิ โยคะ หรือการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง เพื่อช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสะสมไขมันในช่องท้อง
- นอนหลับให้เพียงพอ โดยควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง/คืน เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตนเองอย่างเต็มที่ ส่งเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญและช่วยให้ควบคุมความหิวได้ดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ระบบเผาผลาญไขมันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
สรุป
ไขมันในช่องท้อง ภัยเงียบในช่องท้องที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิด หันมาดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นโดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ ลดความเครียด และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจส่งผลเสียต่อระบบเผาผลาญ เพื่อช่วยลดปริมาณไขมันในช่องท้องและส่งเสริมสุขภาพที่แข็งแรงได้ในระยะยาว
เพราะความมั่นใจของคุณคือความสุขของเรา ให้ THE KLINIQUE ดูแลคุณ
สอบถามโปรโมชั่นหรือปรึกษาปัญหาผิวและรูปร่างฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!
Line OA: http://bit.ly/TheKlinique